— ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14 – 15 มิถุนายนนี้ ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมวันที่ 14 – 15 มิถุนายน และจากนั้นจะปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนก.ค. นอกจากนี้ มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เช่นกันในเดือนกันยายน
— ราคาบิตคอยน์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งหลุดจากระดับ 27,000 ดอลลาร์ในช่วงเช้านี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 06.41 น.ตามเวลาไทย ราคาบิตคอยน์ร่วงลง 477 ดอลลาร์ หรือ -1.74% แตะที่ 26,907 ดอลลาร์
นักลงทุนกังวลว่า การที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) จะฉุดสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี
— นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีนในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบจากการที่จีนล็อกดาวน์เมืองสำคัญเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในช่วงเช้าวันพุธที่ 15 มิถุนายนนี้ ทางการจีนมีกำหนดเปิดเผย การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม, ยอดค้าปลีกเดือนพฤษภาคม, การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนพ.ค. และอัตราว่างงานเดือนพฤษภาคม
— ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีกำหนดจัดการประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในวันศุกร์นี้ ขณะที่ธนาคารอังกฤษ (BoE) มีกำหนดการประชุมในวันพฤหัสบดีนี้ โดยนักลงทุนจับตาการประชุมของสองธนาคารกลางรายใหญ่นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าธนาคารกลางจะส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเหมือนกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือไม่
ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ECB ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ECB ยังประกาศว่าจะยุติการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม
— กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน โดยไม่มีประเทศใดที่ถูกสหรัฐระบุว่าจงใจบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า
อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ได้ละเมิดเกณฑ์ 3 ข้อของสหรัฐ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขเกินดุลการค้ากับสหรัฐ, ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเมื่อเทียบกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้งการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลาง แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ไม่ถูกระบุว่าเป็นประเทศที่จงใจปั่นค่าเงินแต่อย่างใด ขณะที่สหรัฐจะยังคงดำเนินการร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ส่วนประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี อิตาลี เม็กซิโก ไต้หวัน เวียดนาม และไทย
อ้างอิง อินโฟเควสท์